ข้อควรระวังและความเสี่ยงในการนวด
แม้ว่าประโยชน์ของการนวดนั้นจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็ไม่ได้หมายว่าการนวดจะเหมาะกับสุขภาพร่างกายของทุกคน เพราะยังพบว่าในบางกลุ่มที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรู้ข้อควรระวังในการนวดเนื่องจากสามารถทำให้เกิดอันตรายหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง
ข้อควรระวังในการนวดที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เป็นต้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดัน เมื่อได้รับแรงกดหนักๆ ตามเส้นของร่างกายจะส่งผลให้ความดันขึ้นจนเส้นเลือดในสมองแตกได้ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อเข้ารับการนวดอาจจะเกิดแผลฟกซ้ำ ดำเขียว เสี่ยงต่อการเกิดแผลได้ง่าย
ผู้ป่วยที่มีโรคมะเร็งทุกชนิด
ผู้ที่เป็นมะเร็งไม่ควรเข้ารับการนวด เพราะจะทำให้เซลล์มะเร็งกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สาเหตุที่เซลล์กระจายตัวได้เร็วขึ้นมาจากการกด รูด คลึงไปตามเส้นและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เซลล์มะเร็งสามารถกระจายเข้าไปยังเส้นเลือดและน้ำเหลืองได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งทุกชนิดก่อนการนวดจึงควรขอคำปรึกษาจากแพทย์อีกครั้ง
ผู้ป่วยกระดูกพรุน
ข้อควรระวังในการนวดก่อนเข้ารับบริการ ควรตรวจสอบอีกครั้งว่าคุณไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เพราะถ้าผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนได้รับการนวดอาจจะทำให้กระดูกหักหรือบาดเจ็บสาหัส โดยเฉพาะการนวดบริเวณต้นคอ สันหลัง ซี่โครง เป็นจุดที่ต้องระวัง รวมทั้งผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องข้อต่อหลวมหรืออาการเจ็บตามข้อก็ไม่ควรได้รับการนวดเช่นกัน
สตรีมีครรภ์ สตรีมีประจำเดือน
สาเหตุที่สตรีมีครรภ์ไม่ควรได้รับการนวดเพราะอาจจะมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งหากได้รับการนวดที่ไม่ถูกวิธีหรือถูกประเภท เช่น การนวดแผนไทย หรือการนวดสะท้อนจุด อาจจะเกิดอาการแท้งลูกได้ หรือผู้ที่มีประจำเดือนอยู่ในขณะนั้นเมื่อได้รับการนวดจะเกิดไข้ทับระดู เนื่องจากการนวดส่งผลให้เลือดออกผิดปกติซึ่งเกิดจากการแปรปวนภายในร่างกาย
ผู้ที่มีปัญหาเลือดไม่แข็งตัว
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเลือดไม่แข็งตัว เช่น โรคฮีโมฟีเลีย ควรหลีกเลี่ยงการนวด เพราะการนวดช่วยให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น และปรับอุณภูมิสมดุลต่างๆ ภายในร่างกาย อาจจะทำให้ผู้ที่มีปัญหาเลือดไม่แข็งตัวเกิดอาการเลือดออกภายในตามจุดต่างๆ เช่น ใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ จนเกิดอาการซ็อกและถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้ที่มีปัญหากับกระดูกสันหลัง
แม้ว่าการนวดจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ แต่คุณจำเป็นต้องรู้ว่าอาการปวดหลังนั้นมาจากสาเหตุใด หากเป็นอาการปวดหลังที่เกิดจากการบาดเจ็บทางกระดูก การนวดจะไม่สามารถช่วยได้ และยังเกิดอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย เพราะวิธีการนวดที่เน้นแรงหนักบีบ กดไปยังบริเวณที่ปวด ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือข้อกระดูกสันหลังอักเสบได้
ผู้ป่วยที่มีไข้สูงและป่วยติดเชื้อ
ข้อควรระวังในการนวดขณะที่เป็นไข้สูง มีอาการติดเชื้อทางร่างกายหรือผิวหนัง เช่น โรคอีสุกอีใส โรควัณโรค ควรทำการรักษาให้หายขาดก่อนที่จะเข้ารับการนวด เพื่อความปลอดภัยของคุณเองและนักบำบัด รวมทั้ง หากคุณได้รับการผ่าตัดมาเมื่อไม่มานานก็ไม่ควรเข้ารับการนวด เพราะอาจจะเกิดอาการแผลฉีดขาดจากการกดทับได้
ผู้ป่วยกระดูกหัก
ถึงแม้ว่าในอดีตเคยมีประวัติกระดูกหักและทำการรักษาหายแล้ว หรือเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกก็ไม่ควรเข้ารับการนวด เพราะอาจจะเกิดอาการกระดูกเคลื่อน กระดูกปริ หรือกระดูกร้าวได้ และผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกจะเกิดภาวะลิ่มเลือดได้ง่ายกว่า หากได้รับการนวดจะมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดทันที จึงควรหลีกเลี่ยงการนวดโดยเด็ดขาด
ผู้ที่บาดเจ็บจากเล่นกีฬา
หากมีอาการบาดเจ็บร้ายแรง มีรอยซ้ำ เจ็บที่เส้นเอ็นหรือเป็นแผลจากการเล่นกีฬา การตัดสินใจไปนวดจะเกิดอันตรายได้และยังทำให้ร่างกายเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการพักฟื้นร่างกายในช่วง 1-2 อาทิตย์ ก่อนเพื่อรอดูอาการ เมื่ออาการดีขึ้นคุณก็สามารถเข้ารับการนวดได้ แต่หากอาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา